ศูนย์ควบคุมแบบครบวงจร: บัญชี Google
Stephan Micklitz และ Jan Hannemann ทุ่มเทเวลาหลายปีในการพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้ว่าต้องการแชร์ข้อมูลใดบ้างกับ Google และข้อมูลใดบ้างที่ไม่ต้องการแชร์
ตอนที่ Stephan Micklitz บอกคนอื่นว่าเขาทำงานที่ Google คนส่วนใหญ่ก็จะถามว่า "ทำไมนายถึงต้องการข้อมูลเยอะขนาดนั้น" คำตอบของเขาคือ "ข้อมูลช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของ Google มีประโยชน์มากขึ้นสำหรับคนใช้งาน เช่น แสดงผลการค้นหาในภาษาที่ถูกต้อง หรือแนะนำเส้นทางกลับบ้านที่เร็วที่สุด แต่ผมก็มักจะเสริมเสมอว่าคุณสามารถเลือกวิธีที่ Google จะเก็บข้อมูลได้นะ และเลือกได้ว่าจะให้เราใช้ข้อมูลนั้นปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับคุณไหม ใครๆ ก็มักอยากเห็นการทำแบบนั้นด้วยตาตัวเองก่อนจะเชื่อผม!"
"เราต้องการปรับเปลี่ยนบริการให้เหมาะกับแต่ละบุคคล และทำให้เลย์เอาต์ชัดเจนยิ่งขึ้น"
Jan Hannemann
Micklitz ร่วมงานกับ Google ตั้งแต่ปี 2007 เขาคือหนึ่งในสมาชิกทีมคนแรกๆ ที่มิวนิก และได้เข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา Micklitz ได้เป็นผู้นำการพัฒนาทั่วโลกสำหรับผลิตภัณฑ์สำคัญๆ ของ Google หลายตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ เขาเชื่อว่า Google ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องที่จัดตั้งสำนักงานใหญ่ของแผนกนี้ที่ประเทศเยอรมนีเมื่อปี 2008 Micklitz เท้าความว่า "Google ต้องการตั้งแผนกนี้ในที่ที่พูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวกันอย่างเข้มข้นที่สุด"
มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2018 ก็คือกฎระเบียบให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภค (GDPR) ของสหภาพยุโรปมีผลบังคับใช้ GDPR จะควบคุมดูแลการใช้และการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว Micklitz จำช่วงเวลานั้นเมื่อปี 2016 ได้ดี ในตอนที่เขาและเพื่อนร่วมงานอ่านรายละเอียดของกฎหมายนี้เป็นครั้งแรก "เห็นได้ชัดเจนว่าการควบคุมและเครื่องมือหลายๆ อย่างที่เราสร้างขึ้นนั้นสอดคล้องกับ GDPR เป็นอย่างดี แต่เราก็มีงานอีกมากที่ต้องทำเช่นกัน" เขากล่าว จากนั้นเขาก็พาผมเดินไปที่ห้องประชุมเพื่อพบกับ Jan Hannemann ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเขา
Google ได้เปิดตัว Google แดชบอร์ด ซึ่งเป็นเครื่องมือความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเครื่องมือแรกในปี 2009 Micklitz และทีมมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาเครื่องมือดังกล่าว มีการเพิ่มฟังก์ชันต่างๆ เข้าไปมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ปี 2013 ผู้ใช้สามารถจัดการเนื้อหาดิจิทัลที่เก็บไว้ใน Google ของตนเองได้ด้วยเครื่องมือจัดการบัญชีที่ไม่ใช้งาน ในปี 2014 ก็ได้มีการเพิ่มการตรวจสอบความปลอดภัย แล้วตามด้วยการตรวจสอบความเป็นส่วนตัวในปี 2015 เครื่องมือใหม่เหล่านี้จะพาผู้ใช้ไปที่การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและการรักษาความปลอดภัยแบบทีละขั้นตอน
ในปี 2015 เราเปิดตัว "บัญชีของฉัน" ซึ่งรวมบริการของ Google ทั้งหมดเอาไว้ด้วยกัน นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้ใช้มีศูนย์ควบคุมแบบครบวงจร ที่สามารถดูได้ว่า Google บันทึกข้อมูลส่วนตัวใดของตนเอาไว้บ้าง ตัดสินใจเองได้ว่าต้องการจะลบข้อมูลใด และปิดฟังก์ชันที่บันทึกข้อมูลและติดตามกิจกรรมออนไลน์ ผู้ใช้ยังเลือกไม่รับโฆษณาที่ปรับตามโปรไฟล์ของผู้ใช้ได้ด้วย "บัญชีของฉัน" ได้ขยายและได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ที่เปิดตัวครั้งแรก
"การที่ผู้ใช้แต่ละคนสามารถเลือกได้ว่าจะให้ Google เก็บข้อมูลใดไว้บ้างนั้นสำคัญกับเรามาก"
Stephan Micklitz
ในเดือนมิถุนายน ปี 2018 บริการนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ และ "บัญชีของฉัน" ก็เปลี่ยนไปเป็นบัญชี Google Jan Hannemann ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการผลิตภัณฑ์ทำงานร่วมกับ Stephan Micklitz โดยรับผิดชอบในการเปิดตัวบริการอีกครั้ง Hannemann จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และได้ร่วมงานกับ Google ในสำนักงานสาขามิวนิกตั้งแต่ปี 2013 เขาได้ช่วยพัฒนา "บัญชีของฉัน" และรับหน้าที่ดูแล "บัญชี Google" มาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อนร่วมงานถึงกับตั้งชื่อเล่นให้เขาว่า "มิสเตอร์บัญชี Google"
Hannemann อธิบายถึงดีไซน์ใหม่ในบัญชี Google โดยใช้สมาร์ทโฟนของตัวเอง "เราอยากปรับเปลี่ยนบริการให้เหมาะกับแต่ละบุคคล และทำให้เลย์เอาต์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่มีหน้าจอขนาดเล็ก" Stephan Micklitz หยิบสมาร์ทโฟนของตัวเองขึ้นมาเปิดแอปพลิเคชัน "พอผมเรียกใช้บริการนี้ ซอฟต์แวร์ก็จะเสนอตัวเลือกให้ตรวจสอบความปลอดภัย เป็นต้น" เขาอธิบาย "แล้วตรงนี้ผมก็จะเห็นทันทีเลยว่า Google มีคำแนะนำให้ผมปรับปรุงความปลอดภัยบัญชี Google ของตัวเองไหม"
Micklitz และ Hannemann พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามข้อมูลการสำรวจของ Google เป็นหลัก โดยจะดูวิธีที่ผู้คนทั่วโลกใช้บริการแต่ละอย่าง ตลอดจนทัศนคติทั่วไปที่มีต่อการใช้บริการนั้น Hannemann กล่าวว่า "เมื่อพูดถึงเรื่องการนำข้อมูลส่วนตัวมาใช้ ชาวยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเยอรมัน มักจะเกิดความระแวงมากกว่าชาวอเมริกา" "แน่นอนว่าประวัติศาสตร์ของเราก็มีส่วนทำให้เป็นเช่นนั้น" แต่ก็ไม่ใช่ผู้ใช้ทุกคนที่ต่อต้านการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ Hannemann เสริมต่อว่า "บางคนก็รู้สึกว่ามันมีประโยชน์มากๆ ที่สมาร์ทโฟนของพวกเขาช่วยเตือนว่าถึงเวลาต้องออกเดินทางไปสนามบินแล้ว" "หลายๆ คนก็ชอบฟีเจอร์เติมข้อความอัตโนมัติ ที่เครื่องมือค้นหาจะคาดเดาส่วนที่เหลือของข้อความค้นหาให้ ฟีเจอร์เหล่านี้และอื่นๆ อีกมากมายจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อผู้ใช้อนุญาตให้เรานำข้อมูลของพวกเขาไปปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับแต่ละบุคคล"
เมื่อพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว มันไม่มีโซลูชันสูตรสำเร็จหนึ่งเดียวที่จะที่ใช้ได้กับทุกกรณีหรอกครับ Stephan Micklitz กล่าวเสริม ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าทุกคนล้วนแต่เป็นปัจเจกบุคคล และความต้องการของผู้ใช้ก็ปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อยๆ "การที่ผู้ใช้แต่ละคนสามารถเลือกได้ว่าจะให้ Google เก็บข้อมูลใดไว้บ้างนั้นสำคัญกับเรามาก เราจะพัฒนาปรับปรุงเครื่องมืออย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เป้าหมายของเรากลายเป็นจริง"
ภาพถ่าย: Conny Mirbach
ความก้าวหน้าด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
ดูว่าเราช่วยให้ผู้คนออนไลน์อย่างปลอดภัยเป็นจำนวนมากกว่าใครๆ ในโลกได้อย่างไร
ดูข้อมูลเพิ่มเติม